ข้อมูลสถานศึกษา
ประวัติความเป็นมา
วิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร (ชื่อเดิม วิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร) ได้ประกาศจัดตั้งเมื่อ วันที่ 5 เมษายน 2537 ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2539 มีขนาดพื้นที่ทั้งสิ้น 31 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 448 ถนนสกล-นาแก ชุมชนนาอ้อย ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร รหัสไปรษณีย์ 47000
วิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร (ชื่อเดิม วิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร) เริ่มเปิดทำการสอนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2539 โดยมีหน้าที่จัดการเรียนการสอนวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น เป็นหน้าที่หลัก ซึ่งได้จัดการเรียนการสอนภายในและภายนอกวิทยาลัยฯ เพื่อให้สอดคล้องกับงานโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย เช่น โครงการฝึกอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงชื่อสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตามหนังสือที่ ศธ 0604/436 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2564 เห็นสมควรให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาเพื่อจัดการเรียนการสอนตามความเชี่ยวชาญและบทบาทภารกิจของสถานศึกษา ทั้งเพื่อให้สามารถจัดการอาชีวศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพเน้นการพัฒนาคุณภาพในด้านทักษะฝีมือเพื่อให้ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการตั้งชื่อสถานศึกษา พ.ศ.2547 จึงให้เปลี่ยนชื่อวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จากเดิม วิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร เป็น วิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร
มีคุณธรรม ล้ำเลิศวิชา จิตอาสาบริการ พัฒนาวิชาชีพสู่ชุมชน
วิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร
มุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐาน สู่สากล
ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
พันธกิจที่ 1 จัดการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และหลักสูตรระยะสั้น ให้ได้มาตรฐานการอาชีวศึกษา
พันธกิจที่ 2 พัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับท้องถิ่น
พันธกิจที่ 3 พัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา
พันธกิจที่ 4 พัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมการอาชีวศึกษา
พันธกิจที่ 5 ให้บริการชุมชน สังคม ด้านการอาชีวศึกษา
พันธกิจที่ 6 ส่งเสริมการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
“ คุณธรรม นำความรู้ มีจิตบริการ”
คุณธรรม หมายถึง หลักของความดีความงาม ความถูกต้อง ซึ่งจะแสดงออกมาโดยการกระทำทางกาย วาจาและจิตใจของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นหลักประจำใจในการประพฤติปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัยเป็นสิ่งที่มี ประโยชน์ต่อตนเองผู้อื่น และสังคมให้เกิดความรักสามัคคี ความอบอุ่นมั่นคงในชีวิต
ความรู้ หมายถึง ผู้เรียนมีทักษะทางวิชาชีพในสาขาที่เรียนสามารถนำความรู้ ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาวิชาชีพของผู้เรียนได้
จิตบริการ หมายถึง การมีจิตใจของการเป็นผู้ให้บริการที่ดี มีการแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อ ผู้รับบริการ
“พอเพียง สามัคคี มีวินัย”
“สามัคคี มีคุณธรรม นำวิชาการ ใส่ใจบริการ สู่มาตรฐานสากล”
สามัคคี หมายถึง ความพร้อมเพรียง กลมเกลียว ปรองดอง ร่วมใจกันปฏิบัติงาน และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พึ่งพาอาศัยกัน เพื่อปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายหรือปฏิบัติงานให้เสร็จสมบูรณ์ตามนโยบาย
มีคุณธรรม หมายถึง ผู้ที่มีสติ ปัญญาดี รู้ผิดชอบชั่วดี รู้บาปบุญคุณโทษ เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คิดแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งประเทศชาติบ้านเมือง หรือได้ศึกษาและปฏิบัติตาม พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นำวิชาการ หมายถึง ความสามารถของนักเรียนนักศึกษาในการนำความรู้ แนวคิด วิธีการ ตลอดจนเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการเรียนส่งผลให้ผู้เรียนบรรลุผลสำเร็จในการเรียนรู้
ใส่ใจบริการ หมายถึง มีความเต็มใจในการบริการที่ดีการทำงานโดยมีใจรักทำงานด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส มีอารมณ์รื่นเริง และควบคุมตนเองได้
สู่มาตรฐานสากล หมายถึง การมีผลงานทางวิชาการและการบริการวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล